26.9.08

Wine?..Why. ? .Why..? and Why..? : Banana Wine.


Wine?..Why. ? .Why..? and Why..?

คุณ Ladymoon ได้นำสาระมากมายเกี่ยวกับ Wine มาเล่าให้พวกเราอ่านกัน หลังจากที่มีข่าว ว่า เบ ยองจุน จะมีงานแสดงเป็นละครเรื่องใหม่ คือ Drops of god

ยังไม่ทันเปิดตัวสคริปไรท์เตอร์ เขียนบท และคัดนักแสดง เราชาว BTF ก็มึน Wine ชั้นดี ไปหลายขวดหลายชื่อแล้ว ขนาด คุณ Roytavan ส่งข่าว ว่า เหลือ อีก 5 ชื่อ จาก 12 ชื่อ ที่คุณพ่อ คันซากิ ระบุไว้ให้หา สุดยอด wine 12 apostles

แต่ชื่อหัวข้อข้างต้น ของเรื่องนี้ ถ้าพูดออกสำเนียงไทยและออก accent ไม่ชัดนัก ก็ แทบจะแยกไม่ออก ระหว่าง Why และ Wine

และถ้าใครสักคนจะถูก ถาม ว่า WHY? WHY? WHY ? มากๆเข้า ก็มีสิทธิ์ มึน งง เอ๋อ หรือโมโห ไปเลยเหมือนกัน เคยมีคนสอนว่า ไม่ต้องถาม ว่า ทำไม ผู้ใหญ่ สั่งให้ทำอะไรอย่างนั้น ก็ทำไปแล้วกัน ( อย่างนี้เผด็จการไหมหนอ) ตัวคนเล่าเอง เคยใช้ WHY ถามคุณแม่ วัย 91 ปี ถามเพื่อนร่วมงาน หลายๆคน ที่อายุรวมกันแล้วเกิน ครึ่งศตวรรษ ไม่มีใครตอบ แถม หลายๆคน บอกว่า ไม่เคยสงสัย และก็ไม่อยากรู้คำตอบ
คนถามเลยมึนเสียเอง และมึนมาหลายปีแล้วด้วย เข้าประเด็นดีกว่านะคะ


ก่อนอื่นเรามาเป็นเด็กน้อยกันก่อนด้วยคำถามอะไรเอ่ย แบบง่ายๆ

อะไรเอ่ย ลำต้นเท่าขา ใบยาว หนึ่งวา แหม คำตอบง่ายมากเลยใช่ไหม เฉลยเลย ก็ได้ คนอ่านไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะเรื่องที่จะอ่านนี้ก็ยาวยืดยาด ตามนิสัยส่วนตัวของคนเล่า ที่เล่าเรื่องแบบกระชับ กะทัดรัดไม่เป็น ทำใจอ่านหน่อยก็แล้วกันนะคะ
คำตอบ คือ กล้วย

กรุณา อย่าด่วนนึกในใจว่า โธ๋เอ๋ยของกล้วยๆ คนเล่าสงสัยมานานนักหนาว่า ทำไมจึงเรียกอะไร ที่ดูว่า มันง่ายๆ ว่า ของ กล้วยๆ หรือการทำอะไรสักอย่างที่รู้สึกว่าง่ายมาก ด้วย วลีว่า ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ลองปอกกล้วยดิบดูซิว่ามันง่ายไหม รับรองว่ากล้วยลูกที่ว่านี้ไม่ได้เข้าปากเราแน่นอน
การกินแบบไม่ปอกเปลือก ต้องหั่นเหมือนกล้วยดิบที่เรากินกับแหนมเนือง ถึงจะได้กิน ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากควรต้องมีวงเล็บ ว่าเฉพาะกล้วยสุกเท่านั้น



และ ส่วนประกอบของ กล้วย มันไม่ได้ง่ายอย่างที่โบราณ เอามาเปรียบเปรยเลยสักนิด คนเล่าถาม
เรื่องกล้วย กับคนอายุ 91 คำตอบคือไม่รู้ สิ ทั้งที่ ตอนนี้ คนตอบอายุ 91 ปี แล้ว ไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไม
และยังคง ไม่สงสัยอยู่เหมือนเดิม เฮ้อ.....

กล้วยเป็นพืชล้มลุก และ เป็นหนึ่งในพรรณไม้สำคัญและจำเป็น กับวิถี ชีวิตคนไทยโดยเฉพาะ ต่างจังหวัดหรือ ให้ชัดลงไป ก็คือ ของคนบ้านนอกโดยเฉพาะที่บ้านคนเล่าเอง แทบทุกบ้าน มักมีต้นไม้หรือพืช
สารพัดประโยชน์ 3 อย่าง คือ ไผ่ มะพร้าวและกล้วย โดยเฉพาะที่จะเขียนถึงในที่นี้ คือ ต้นกล้วย
ที่คนเล่าอยากเรียกชื่อใหม่ว่า ต้นประหลาด ต้นพิสดาร หรือต้นพิลึกกึกกือ เสียมากกว่า….

แต่ละองค์ประกอบของกล้วย ใช้ชื่อเรียกที่ไม่เหมือนต้นไม้อื่นๆ เกือบทุกส่วน เริ่มจาก ต้น
ต้นกล้วยส่วนที่เป็นต้นจริงๆ คือเหง้าซึ่งอยู่ใต้ดิน ลำต้นที่เรามองเห็นกัน ถ้าเป็นต้นเล็ก ๆ ที่โผล่พ้นดินขึ้นมา เราเรียกว่า หน่อกล้วย กล้วยดำรงพันธ์ได้ด้วย หน่อ ที่มาจากเหง้าเดิม เราคงเคยได้ยินคำว่า หน่อเนื้อ
เชื้อไข ก็คือ ทายาทที่จะสืบตระกูลของ พ่อแม่ หน่อกล้วยก็เหมือนกัน รวมทั้งคงเคยได้ยินคำว่าโค-ตะ -ระ-เหง้า กันบ่อยๆ
สำหรับกล้วย ดำรงพันธ์โดย หน่อกล้วย ของเหง้าเดิม
สำหรับ มนุษย์ การดำรงสกุลของเผ่าพันธุ์ คือ การมีหน่อเนื้อเชื้อไขไว้สืบตระกูลให้ โคตรเหง้า (เขียนแบบไพเราะแล้วนะคะ)

ถ้าหั่นลำต้นของกล้วยนี้ออก จะเรียกว่า หยวกกล้วย เช่น ที่เขาหั่นเอาไปเลี้ยงหมู หรือสัตว์อื่นๆหรือหั่นเป็นชิ้นๆ หรือ ท่อนๆ เอามาทำกระทง ไว้ลอย ขอขมาพระแม่คงคาในเทศกาลวันลอยกระทง
มีคำพูด ถึงคนที่มีผิวขาว ว่า ขาวเหมือนหยวกกล้วย คงเคยได้ยินกัน
ในทางวรรณคดี กวีมักเปรียบขาของนางงามว่าเหมือนต้นกล้วย ในกลบทมีกล่าวว่า
“ เจ้างามเพลากลกัทลีพรรณ” คงหมายถึงกลมกลึงและขาวเหมือนหยวก

ในกาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ

ชมเพลาเจ้าเรียวรวย คือต้นกล้วยสวยสดเปลา
เข่าแข้งงามกว่าเพลา หรือพรหมกลึงจึงนางงาม
อูรูดูเรียบร้อย คือเหลา
ลำกล้วยกลมปลายเปลา ห่อนแห้ง
ชังฆาธนูเหลา เฉลิมรูป
หรือว่าพรหมกลึงแกล้ง แต่งให้นางงาม

การเปรียบขาผู้หญิงว่างามเหมือนต้นกล้วย เป็นคำเปรียบที่มีมาเก่าแก่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง(สมัยสุโขทัย ) ได้กล่าวถึงผู้หญิง ในแผ่นดิน อุตรกุรุทวีป ไว้ตอนหนึ่งว่า “ แลมีลำแข้งลำขานั้นงามดังลำกล้วยทองฝาแฝดนั้นแล “ เป็นต้น

แต่ถ้าเราแกะลำต้นกล้วยออกมาทีละชิ้น เราจะเรียกว่า กาบกล้วย
กาบกล้วยผิวเรียบเป็นมันลื่น ซ้อนกันชั้นแล้วชั้นเล่ารวมเป็นต้นกล้วย

ใบของต้นกล้วยเราไม่เรียกว่า ใบกล้วย แต่เรียกเป็น ใบตอง คำว่า ตอง ใน พจนานุกรม แปลว่าใหญ่ คงเป็นเพราะใบใหญ่ หรือเปล่า การเรียกลักษณนามของใบตอง เราจะเรียก ว่า ทาง นอก จากไม่เรียก ว่า ใบกล้วย แล้วหากจะกล่าวถึงจำนวนของใบกล้วยว่า 3ใบ 4 ใบ เราจะ เรียก ว่า 3 ทาง 4 ทาง
ใบตองสด และใบตองแห้ง นำมาใช้ประโยชน์มากมาย เขียนได้อีกหลายหน้าเลยทีเดียว

เวลากล้วยออกดอก เราก็ไม่เรียก ดอกกล้วย แต่จะเรียก ปลี กล้วย การเรียก ดอกกล้วย 3 หรือ 4 ดอก เราจะเรียกว่า ปลี กล้วย 3 หัว หรือ 4 หัว บางคนก็ไม่เรียกปลี กล้วย แต่เรียกเป็น หัวปลี
เช่นตามร้านอาหารมี เมนู ยำหัวปลี แกงเลียงหัวปลี เป็นต้น
ปลี กล้วย รูปทรง ยาวกลมและอ้วน มีปลายแหลม ( อ่านดูตลกๆ ไหมกับรูปทรงแบบนี้) ส่วนใหญ่มีสีชมพูแก่ถึงม่วงเข้ม ข้างใน ปลี กล้วย จะเป็นดอกเล็กๆยาวๆ เรียงกันคล้ายหวี มีกลีบดอกเลี้ยงสีขาว หุ้มสลับหลายชั้น

ผลของกล้วยที่ได้จาก ปลี กล้วย เรียกว่าลูก
กล้วยหลายๆลูก อยู่รวมกันมีขั้วเดียวกันรวมกันเรียกว่า หวี
กล้วยหลายๆหวีอยู่รวม งวง เดียวกัน เรียกว่าเครือ ( ส่วนใหญ่ เราจะใช้คำว่า งวง กับช้าง นี่นำมาใช้กับกล้วยด้วย อืม ...)

มีตำราว่า กินกล้วยดิบแก้ท้องเสียได้ผลดี แต่ก็น่าประหลาดใจอีก ที่กล้วยสุกกลับเป็นยาระบายแก้ท้องผูก ได้ดีเช่นกัน มหัศจรรย์ กล้วย ไหมนี่

กล้วยแต่ละผล(ลูก) จะไม่อยู่แบบโดดเดี่ยวให้ว้าเหว่เอกา จะอยู่รวมกัน เหมือนมีพี่น้อง รวมกันเป็นหวี แล้วแต่ละหวี ก็จะมีพี่น้องอีก รวมกันเป็นเครือ กล้วยบางพันธ์ ใน หนึ่งเครือ มีถึง ร้อยหวี ดังนั้น จะมี คำพูดว่า วงศ์วานหว่านเครือเดียวกัน หรือบางครั้ง ก็ เป็นเครือญาติกัน หรือ การเป็นบริษัท ในเครือเดียวกัน ยังไม่เคยได้ยิน ว่า เครือเพื่อนเดียวกัน ( เพราะคนละเชื้อสายวงศ์ตระกูลกันนั่นเองกระมัง)
เครือกล้วย จึงนำมาใช้ ในการบอกความสัมพันธ์ของวงศาคณาญาติ เชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกัน
“วงศ์วานหว่านเครือเนื้อหน่อ พงศ์เผ่าเหล่ากอ มาแต่ไหน “

ต้นกล้วยเมื่อออกเครือแล้วก็จะตาย จึงมีสุภาษิตขึ้นว่า
“ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่แลดอกอ้อฆ่าไม้ไผ่แลไม้อ้อ ลาภผลฆ่าคนชั่ว...

คุณประโยชน์ของกล้วย

นอกจากใบตองสดแล้วใบตองแห้ง ก็มีคุณประโยชน์มากมายนับอเนกอนันต์ กับคำพูดที่ว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ แต่ ใบตองของกล้วย มีแต่ คุณอนันต์ อย่างเดียว
หยวกกล้วย ใช้เลี้ยงสัตว์ และใช้งานอื่นๆ กาบกล้วย ก็ใช้ทำเชือกกล้วย มีความเชื่อกันว่า งูเหลือมแพ้เชือกกล้วย ด้วย
ปลี กล้วย สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอด คนโบราณจะให้กินแกงเลียงหัวปลี เพื่อช่วยให้มีน้ำนมเลี้ยงลูก
เป็นผักสดกินกับผัดไทย หรือจิ้มน้ำพริกทั้งสดหรือ ต้ม ก็อร่อยเหลือหลาย
ผลกล้วย ที่ใช้กินได้ อุดมคุณค่าทางโภชนาการ ใช้เป็นยารักษาโรคทั้งกล้วยดิบและกล้วยสุก แถมตรงกัน ข้ามอย่างสิ้นเชิง
ยางกล้วยก็ยังสามารถ ทำเป็นสีย้อมผ้าได้
ก้านกล้วย เอามาประดิษฐ์ของเล่น เช่น ทำเรือ ทำม้าก้านกล้วย.ให้เด็กๆ ได้เล่นขี่ม้าก้านกล้วย
มีหนังสือนิทานของอินเดียกล่าวว่า ในเบงกอลสมัยก่อน เวลาซักผ้าเขาจะเอา ต้นกล้วยมาเผา แล้วเอาขี้เถ้าต้นกล้วยนี้มาทำสบู่

กล้วยกับขนบธรรมเนียมประเพณี ของหลายประเทศ

มีภาพยนตร์ เรื่องศกุนตลา เมื่อท้าวทุษยันต์ทำพิธีวิวาหะกับนางศกุนตลา ในพิธีมณฑลมีการตบแต่งด้วยต้นกล้วยที่มีเครือ ถือกันว่า กล้วยที่ครบทั้งต้นทั้งเครือทั้งใบ เป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์

ในพิธีแต่งงานแบบไทย ที่มีขบวนขันหมากจากฝ่ายเจ้าบ่าว ถ้าหา ต้นกล้วยอย่างท้าวทุษยันต์ไม่ได้จะมี ต้นกล้วย ต้นอ้อย และ มีกล้วยเป็นหวีๆ ใส่ถาดในริ้วขบวนขันหมาก กล้วยและอ้อยเมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว หลังเสร็จพิธี แล้ว(ไม่แน่ใจจำนวนวันว่าหลังพิธีกี่วัน) ต้องนำไปปลูก เพื่อเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อไปของชีวิตคู่

บาหลีและอินเดีย ถือว่าใบตองเป็นของสูง ของไทยใช้ใบตองทั้งงานมงคล และอวมงคล ชาวยูกานดา กล้วยเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิด จนถึงหลุมศพ ฟิลิปปินส์ มีความเชื่อในเรื่องปลี กล้วย ว่าก้อนหินที่ได้จากปลีกล้วย เป็นเครื่องรางของขลังที่วิเศษ

ของไทยถือว่า กล้วยต้องออกปลีที่ยอด ถ้าบังเอิญออกตรงกลางต้น โบราณถือว่าอุบาทว์ เพราะผิดธรรมชาติ ในตำราอธิไทยโพธิบาทว์ กล่าวว่า “ หนึ่งกล้วยออกเครือแครงครา กลางลำมายาอุบาทว์อุบัติให้เห็น” อย่างนี้จัดอยู่ในอุบาทว์พระเพลิงต้องเซ่นสรวงบูชา

มีตำนานวัดตองปุ ว่า มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง เสด็จไปที่วัดกะทันหัน ที่วัด ไม่มีผ้าไม่มีพรมรับเสด็จ จึงใช้ใบตองทั้งทาง ปูติดๆกันให้ทรงเสด็จพระราชดำเนินบนใบตอง ชื่อตองปุ เพี้ยนมาจาก ตองปู นั่นเอง

ลักษณนาม ของผลของต้นไม้ ที่อยู่รวมกัน หลายๆผล นอกจากหวี และเครือแล้ว ก็ มี คำว่า พวง เช่น พวงองุ่น พวงมะม่วง พวงลำไย ( แต่พวงมาลัยไม่ใช่นะคะคนละเรื่องค่ะ แต่ถ้าจะลองเรียกว่า หวีมาลัยรู้สึก พิกลอยู่มากๆ พวง แปลว่า กลุ่มของสิ่งที่ห้อยย้อยไปทางเดียวกัน องุ่น ก็เลยเป็นพวง มาลัยก็เลยเป็นพวง เหมือนกัน ) นอกจากนี้มีคำว่า ทะลาย เช่น ผลหมาก และ ผลของมะพร้าว คำเรียกคือ หมาก 1 ทะลาย มะพร้าว 2 ทะลาย และระกำ มีลักกษณนาม ว่ากระปุกเรียกว่า ทะลายระกำกระปุกหนึ่ง ยังนึกไม่ออกว่ามีอย่างอื่นอีกไหม

อ้อและใบไม้ ที่มีลักษณนามว่าทาง นอกจากกล้วย ก็คือ ทางหมาก ทางมะพร้าว

เห็นไหมคะ ภาษาไทย ซับซ้อน ซ่อนเรื่องรายละเอียดไว้มากมาย
คนเล่า ไม่ใช่ครูภาษาไทยจากโรงเรียนไหนนะคะ เป็นแค่ ศิษย์ครูภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งทุกคนไทยที่เรียนหนังสือ ในไทย เป็นเหมือนคนเล่า เท่าๆกัน )

เคยอ่านเจอในหนังสือ โครงการตำราโรงเรียนรุ่งอรุณ เรื่องกล้วย เล่าถึงที่มาของกล้วยในเมืองไทย
มีคำถามว่า กล้วยมาจากไหน ก่อนที่คนไทย จะได้คุ้นลิ้น
มีคำตอบว่า
ไม่แน่ใจนัก แต่เคยได้ยิน ว่าพันธ์ใช้กิน มาจากอินเดีย
พวกแขกอาหรับ เดินทางค้าขาย ต่างนำกล้วยไป ใช้แลกเงินเบี้ย
ทั้งในยุโรป จรดเอเชีย......

และมีหนังสือของ ส.พลายน้อย เล่าว่า คำว่า Banana ของฝรั่ง ที่แปลว่ากล้วยนั้น มาจากภาษาอาหรับว่า Banan ซึ่งแปลว่านิ้วมือ นิ้วเท้า
(ถ้าอย่างนั้น กล้วยน้ำว้า ที่เอามาฝานเป็นชิ้นๆ ชุบกับแป้ง แล้วเอาไปทอดกับน้ำมัน แล้วเราเรียกกันว่า กล้วยแขก คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง กล้วยแขกทอดกระทะแรกที่คนไทยรู้จักและได้ลิ้มชิมรส น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โภชนาการ ของพวกแขก ที่แบกกล้วยเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ในสมัย ครั้ง บุราณ นานมา หรือไม่ก็ คนไทย คิดสรรหาดัดแปลง เอากล้วยของแขก มาชุบแป้งทอด นี่สันนิษฐานเอาเองค่ะ)

เท่าที่นึกออก ถึงกล้วยในบ้านเรา มีดังนี้ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ (ต้องกำแพงเพชรถึงจะอร่อยสุด) กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอม กล้วยร้อยหวี กล้วยตานี ( ที่กล่าวกันว่า ผีนางตานีดุมาก)
นี่ไม่รวมกล้วยที่ปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น กล้วยพัด ฯ

มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกล้วย ทั้งนิทาน และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่ วัตถุประสงค์ที่ เล่าเรื่อง กล้วย เพราะมีข้อข้องใจ เกี่ยวกับการเรียก ส่วนประกอบ ของกล้วย ว่า เรียกชื่อ แปลกประหลาด ไปเสียเกือบทุกส่วนประกอบ คงมีแต่ส่วนที่เป็นราก ที่เรียกเหมือนเพื่อนพ้องต้นไม้ด้วยกัน

มีคำว่า WHY ? ติดค้างในหัวใจ มาหลายขวบปี จนบัดนี้ ก็ ยัง Wine ? WHY? WHY ? I don’t know WHY ?

อ่านมาจนจบแล้ว รู้สึกร่วมกับ คนเล่าไหมคะ ว่า กล้วย ไม่ใช่ของง่ายๆเลยสักนิด น่าพิศวง เสียมากกว่า

แต่สำหรับ คำว่า Why นี้ คนเล่ารู้สึก ว่า เป็นคำ ที่เราไม่ควรใช้กับคนอื่นบ่อยๆ แต่ ควร ใช้สำหรับกับตัวเองมากกว่า เป็นการทบทวนตัวเองว่า เราทำอะไรไปบ้างและทำไปเพื่ออะไร

ข้อมูล มาจากหนังสือโครงการตำราโรงเรียนรุ่งอรุณ และหนังสือของ ส.พลายน้อย

ขออนุญาตมาต่อข้อความคุณ Amornbyj หน่อยนะคะ..ไหน ๆ ก็คุยเรื่องกล้วยแล้ว...

ก็ขอเอากล้วยมาทำไวน์เลยแปกดี...ฮะๆๆๆๆ....:-)

Banana Wine


Banana Wine
Recipe file created June 26, 2001.
You must be very patient to make this wine. It takes a long time to clear. Using very ripe fruit will improve the clearing time.
Add some starch enzyme if you have it.

Ingredients
3 pounds bananas
1 1/2 cups light raisins
5 cups granulated sugar
2 lemons
2 campden tablets
1 teaspoon nutrients
water
1 package wine yeast

Peel and slice bananas. Chop 1/10 to 1/2 of the banana peels. Place both in a large saucepan with 6 cups water. Bring to a boil and simmer for 30 minutes. Strain out pulp.

Put sugar, raisins, campden tablets and the juice of the lemons into primary fermentor. Pour hot banana liquid over sugar mixture and stir to dissolve. Make up to 1 gallon with cold water. Let sit overnight.

The next day, add nutrients and yeast. Leave for 5 days, stirring daily. There will be heavy foaming during fermentation.

On the fifth day, siphon into secondary fermentor before stirring, being careful not to disturb the sediment on the bottom. If necessary, make up to volume with water. Attach airlock. Siphon the wine off the sediment after three weeks. Return wine to fermentor.

For a dry wine, Rack every three months for a year.

For a sweet wine, add 1/2 cup sugar dissolved in 1 cup wine at each racking until fermentation does not start again when sugar is added.

Continue racking wine every two to three months until it is clear. Bottle.

Variation
Use brown sugar (or demerara sugar) in place of the granulated sugar.
For a spiced wine, add one or all of the following:
1 ounce bruised ginger root
1 ounce whole cloves
1 - 4 inch cinnamon stick
If you want to leave out the banana peels, add 1/4 teaspoon tannin.

Amornbyj & Roytavan

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.